มงคลชีวิต 38 ประการ

มงคลชีวิต 38 ประการ

เลือกอ่านหัวข้อ ซ่อนเนื้อหา
มงคลชีวิต หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

มงคลชีวิต หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

มงคลชีวิตก็คือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้พุทธศาสนิชนได้ปฏิบัติ ยึดหลักคุณธรรม ศีลธรรม เพื่อเกิดมงคลแก่ชีวิต ให้ชีวิตรุ่งเรือง มีแต่ความสุขความก้าวหน้า หากสามารถยึดถือปฏิบัติได้ดังนี้จักประสบแต่ความสำเร็จ รุ่งเรือง ความร่ำรวย มีความรักรอบด้าน เจ้านายเอ็นดู เพื่อร่วมงานก็ยินดี ลูกค้าทักกิจการก้าวหน้า มีโชคมีลาภอย่างไม่ยึดติด เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตสืบไป

มงคลชีวิต 38 ประการ ธรรมะที่ควรใช้ในชีวิตประจำวันดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เพื่อเป็นคุณธรรมในการใช้ชีวิต อันได้แก่

มงคล 1 ไม่คบคนพาล
มงคล 2 คบบัณฑิต
มงคล 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชา
มงคล 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
มงคล 5 มีบุญวาสนามาก่อน
มงคล 6 ตั้งตนชอบ
มงคล 7 พหูสูต
มงคล 8 มีศิลปะ
มงคล 9 มีวินัย
มงคล 10 มีวาจาสุภาษิต
มงคล 11 บำรุงบิดามารดา
มงคล 12 เลี้ยงดูบุตร
มงคล 13 สงเคราะห์ภรรยา – สามี
มงคล 14 ทำงานไม่คั่งค้าง
มงคล 15 บำเพ็ญทาน
มงคล 16 ประพฤติธรรม
มงคล 17 สงเคราะห์ญาติ
มงคล 18 ทำงานไม่มีโทษ
มงคล 19 งดเว้นจากบาป
มงคล 20 สำรวมจากการดื่มน้ำเมา
มงคล 21 ไม่ประมาทในธรรม
มงคล 22 มีความเคารพ
มงคล 23 มีความถ่อมตน
มงคล 24 มีความสันโดษ
มงคล 25 มีความกตัญญู
มงคล 26 ฟังธรรมตามกาล
มงคล 27 มีความอดทน
มงคล 28 เป็นคนว่าง่าย
มงคล 29 เห็นสมณะ
มงคล 30 สนทนาธรรมตามกาล
มงคล 31 บำเพ็นตบะ
มงคล 32 ประพฤติพรหมจรรย์
มงคล 33 เห็นอริยสัจ
มงคล 34 ทำพระนิพพานให้แจ้ง
มงคล 35 จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
มงคล 36 จิตไม่โศก
มงคล 37 จิตปราศจากธุลี
มงคล 38 จิตเกษม

มงคล 1 ไม่คบคนพาล

“อย่าคบมิตรที่พาลสันดาลชั่ว
จะพาตัวเน่าดิบจนฉิบหาย
แม้ความคิดชั่วช้าอย่ากล้ำกราย
เป็นมิตรร้ายภายในทุกข์ใจครัน”

ลักษณะของคนพาล 3 ประการ
1. คิดชั่ว ยอมทำทุจริตเพื่อให้ได้มา มีความพยาบาท เห็นผิดเป็นชอบ
2. พูดชั่ว พูดเท็จ ส่อเสียด เพ้อเจ้อ
3. ทำชั่ว ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ฉ้อโกง

มงคล 2 คบบัณฑิต

“ควรคบหาบัณฑิตเป็นมิตรไว้
จะช่วยให้พ้นทุกข์สบสุขสันต์
ความคิดดีเลิศล้ำยิ่งสำคัญ
ควรคบกันอย่าเขวทุกเวลา”

บัณฑิตในที่นี่หมายถึง ผู้มีความรู้ มีปัญญา จิตใจดีงาม ดำเนินชีวิตอย่างรู้ชั่วรู้ดี 3 ประการ
1. คิดดี ไม่โลภ ไม่ปองร้าย ให้อภัย มีความกตัญญู
2. พูดดี สุจริต พูดจริง ไม่โกหก ไม่นินทา
3. ทำดี ยึดถืออาชีพสุจริต อยู่ในศีลธรรม

มงคล 3 บูชาบุคคลที่ควรบูชา

“ควรบูชาไตรรัตน์ขัตติเยศร์
ผู้วิเศษก่อเกื้อเหนือเกศา
ครูอาจารย์เจดีย์ที่สักการ์
ด้วยบุปผาปฏิบัติสวัสดิ์การ”

บุคคลที่ควรบูชา
1. พระพุทธเจ้า
2. พระปัจเจกพระพุทธเจ้า (พระสงฆ์)
3. พระมหากษัตริย์
4. บิดามารดา
5. ครูอาจารย์
6. อุปัชฌาย์

มงคล 4 อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

“เป็นเมืองกรุงทุ่งนาหรือป่าใหญ่
ทางมาไปครบครันธัญญาหาร
มีคนดีที่ศึกษาพยาบาล
ปลดภัยพาลควรอยู่กินถิ่นนั้นแล”

ถิ่นอันเหมาะสมประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมดังนี้
1. อาวาสที่สบาย สะอาด อากาศดี ไม่มีอบายมุข
2. อาหารที่สบาย อุดมสมบูรณ์
3. บุคคลที่สบาย คนดี มีจิตโอบอ้อม มีศีลธรรม
4. ธรรมะที่สบาย มีที่ฟังธรรม มีที่พึ่งทางธรรม มีแหล่งศึกษาความรู้

มงคล 5 มีบุญวาสนามาก่อน

การทำบุญทำได้ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา

“กุศลบุญคุณล้ำเคยทำไว้
จะส่งให้สวยเด่นเช่นดวงแข
ทั้งทรัพย์ยศไมตรีมีเย็นแด
เพราะกระแสบุญเลิศประเสริฐนัก”

มงคล 6 ตั้งตนชอบ

อันหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ประมาท มีความอดทน

“ต้องตั้งตนกายใจในทางถูก
เร่งฝังปลูกตนไว้ให้ถูกหลัก
เมื่อตัวตนยังมีเป็นที่รัก
ควรพิทักษ์ให้งามตามเวลา”

มงคล 7 พหูสูต

พหูสูต อันหมายถึง ผู้ที่ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ ตั้งใจท่อง ตั้งใจพิจารณาและเข้าใจในปัญหา เพื่อเกิดความรอบรู้ ช่างสังเกต

“การสนใจใฝ่คว้าหาความรู้
ให้เป็นผู้แก่เรียนเพียรศึกษา
มีศีลดีสติมั่นเกิดปัญญา
ย่อมนำพาตัวรอดเป็นยอดดี”

มงคล 8 มีศิลปะ

ผู้มีศิลปะ หมายถึง ผู้ที่มีความศรัทธาในความงาม หมั่นสังเกต พิจารณามีความปราณีต ละเอียดอ่อน สุขุมและมีความคิดสร้างสรรค์

“ศิลปะต่างอย่างทางอาชีพ
ควรเร่งรีบเรียนรู้ชูศักดิ์ศรี
มีบางคนจนอับกลับมั่งมี
ฉลาดดีมีศิลปืหากินพอ”

มงคล 9 มีวินัย

“อันวินัยนำระเบียบสู่เรียบร้อย
คนใหญ่น้อยเปรมปรีดิ์ดีนักหนา
วินัยสร้างกระจ่างข้อก่อศรัทธา
เพราะรักษากติกาพาร่วมมือ

ไม่พูดเท็จพูดสอดเสียดและพูดมาก
ละความยากสร้างวิบากฝากยึดถือ
คนหมู่มากมักถางถากปากข่าวลือ
ต้องสัตย์ซื่อถือวินัยใช้ร่วมกัน”

วินัยสำหรับฆราวาสหรือบุคคลทั่วไป (อาคาริยวินัย) หรืออกุศลกรรมบถ 10 ประการ ได้แก่
1. ไม่ฆ่าชีวิตสัตว์
2. ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงินและสิ่งของ
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม ข่มขืน
4. ไม่โกหก หลอกลวง
5. ไม่พูดเสียด นินทา ยุยงให้แตกกัน
6. ไม่พูดหยาบ
7. ไม่พูดเพ้อเจ้อ
8. ไม่โลภ อยากได้สิ่งที่ไม่ใช่ของตัว
9. ไม่เห็นผิดเป็นชอบ

มงคล 10 มีวาจาสุภาษิต

วาจาสุภาษิต หมายถึง เป็นคำที่มีมูล มีหลักการและเหตุผล เชื่อถือได้ สุภาพ ไพเราะ สร้างสรรค์ มีความจริงใจ มีกาลเทศะ

“เปล่งวจีสัจจนะนวลละม่อม
กล่าวเกลี้ยกล่อมไพเราะกาลเหมาะสม
เจือประโยชน์เมตตาค่านิยม
รื่นอารมณ์ผู้ฟังดังเสียงทอง”

มงคล 11 บำรุงบิดามารดา

“คนที่หาได้ยากมากไฉน
เพราะว่าในโลกนี้มีเพียงสอง
คือพ่อแม่เกิดเกล้าเหล่าลูกต้อง
ตอบสนองเพระคุณได้บุญแรง”

มงคล 12 เลี้ยงดูบุตร

“เป็นมารดา บิดา ทำหน้าที่
ให้บุตรมี พำนัก เป็นหลักแหล่ง
ส่งเสริมบุตร ธิดาตน กุศลแรง
ย่อมส่องแสง เพิ่มพูน ตระกูลวงศ์”

หน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องดูแลบุตร ได้แก่
1. ห้ามไม่ให้ทำชั่ว
2. ปลูกฝังให้ทำแต่ความดี
3. ให้การศึกษา
4. สนับสนุนให้ได้คู่ครอบที่ดี
5. มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร

มงคล 13 สงเคราะห์ภรรยา – สามี

“มีคู่ครอง ต้องไม่ทำ ให้ช้ำจิต
จะพาผิด ไปข้าง ทางผุยผง
ต้องสงเคราะห์ แก่กัน ให้มั่นคง
รักยืนยง ด้วยกัน ถึงวันตาย”

หน้าที่ของสามีที่พึงปฏิบัติต่อภรรยา

  • ยกย่องนับถือ เปิดเผย
  • ไม่ดูหมิ่นดูแคลน
  • ไม่นอกใจ ไม่เที่ยวเตร่หาความสุขกับหญิงบริการ
  • มอบธุระทางบ้านให้ภรรยาเป็นคนจัดการ
  • ให้ความสุข ให้แต่งตัวอย่างพอดี

หน้าที่ที่ภรรยาควรปฏิบัติต่อสามี

  • จัดการดี งานบ้านไม่บกพร่อง มีความสะอาด
  • สงเคราะห์ญาติสามี เท่าที่พอจะมีกำลัง
  • ไม่นอกใจ ไม่คบชู้ ไม่ปันใจ ซื่อสัตย์ต่อสามี
  • รักษาทรัพย์ ไม่ฟุ่มเฟือย
  • ขยันทำงาน ไม่เกียจคร้าน

มงคล 14 ทำงานไม่คั่งค้าง

“จะทำงาน การใด ตั้งใจมั่น
อย่าผัดวัน ทำเล่น เช้า เย็น สาย
ไม่ทิ้งคา อากูล มากมูลมาย
เร่งคลี่คลาย ให้เสร็จ สำเร็จการ”

หลักกการทำงานให้เสร็จ สำเร็จลุล่วง

  1. ฉันทะ หมายถึง พอใจในงานที่ทำ
  2. วิริยา หมายถึง มีความตั้งใจ พากเพียร
  3. จิตตะ หมายถึง มีความเอาใจใส่
  4. วิมังสา หมายถึง มีการพิจารณา ทบทวนงานนั้นๆ

มงคล 15 บำเพ็ญทาน

การให้ทาน คือการให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน อันได้แก่ อามิสทาน (การให้วัตถุ, สิ่งของหรือเงิน) ธรรมทาน (การให้ความรู้)และอภัยทาน (การให้อภัย ไม่จองเวร)

“ควรบำเพ็ญ ซึ่งทาน คือการให้
ท่านว่าไว้ สวยงาม สามสถาน
หนึ่งให้ของ สองธรรมะ ชนะมาก
อภัยทาน ที่สาม งามเหลือเกิน”

มงคล 16 ประพฤติธรรม

การประพฤติธรรมหมายถึงการการะทำ 3 ประการ ได้แก่
1. กายสุจริต (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)
2. วจีสุจรติ (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ)
3. มโนสุจริต (ไม่โลภ ไม่ปองร้ายและเข้าใจในความจริงความถูกต้อง)

“การประพฤติ ตามธรรม คำพระสอน
ไม่เดือดร้อน ถอนทุกข์ ยามฉุกเฉิน
คนรักธรรม ธรรมรักษ์คน ผลเจริญ
นั่งยืนเดิน นอนสุข ทุกข์ไม่มี”

มงคล 17 สงเคราะห์ญาติ

“เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้อง
ควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี
เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี
หากถึงที เราจน ญาติสนใจ”

มงคล 18 ทำงานไม่มีโทษ

อาชีพต้องห้ามได้แก่ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาเสพติด ค้ายาพิษ ค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า

“งานรับจ้าง ล้างชาม ก็ตามเถิด
หากไม่เกิด โทษทัณฑ์ นั่นสดใส
เมื่อได้ช่อง ต้องจำ กระทำไป
ได้กำไร ทุกทาง ไม่ว่างงาน”

มงคล 19 งดเว้นจากบาป

“กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น
หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ
งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสัดาน
ในดวงมาลย์ ไม่ร้อนและอ่อนเพลีย”

มงคล 20 สำรวมจากการดื่มน้ำเมา

“ของมึนเมา ทุกขนิด พิษคล้ายเหล้า
ใครเสพเข้า น่าตำหนิ สติเสีย
เกิดโรคร้าย แรงร้อน กายอ่อนเพลีย
ใครงดเสีย เป็นสุข ไปทุกวัน

มงคล 21 ไม่ประมาทในธรรม

“ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม
คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน
ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน
ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน”

มงคล 22 มีความเคารพ

“ความเคารพ นับถือ คือเสน่ห์
ไม่โลเล เหมือนลิง วิ่งหลอกหลอน
ทั้งต่อหน้า ลับหลัง พึงสังวร
ย่อมงามงอน สวยสง่า ราคาแพง”

มงคล 23 มีความถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึงการไม่ข่มผู้อื่น ไม่อวดดี รับฟังและวิเคราะห์ตามเหตุผล มีกิริยานอบน้อม อ่อนหวาน จิตใจอ่อนโยน สมบูรณ์ทั้งกาย วาจาและใจ

“ไม่พองลม ก้มหัว เจียมตัวด้วย
มรรยาทสวย นิ่มนวล สิ้นส่วนแข็ง
เหมือนงูพิษ ถอดเขี้ยว หมดเรี่ยวแรง
ยามแถลง นอบน้อม พร้อมใจกาย”

มงคล 24 มีความสันโดษ

สันโดษในที่นี้หมายถึงการพอใจในสิ่งที่ตัวมี อยู่อย่างพอเพียงในกำลังของตน อันได้แก่

  • ยถาลาภสันโดษ หมายถึง ยินดีตามมีตามเกิด
  • ยถาพลสันโดษ พอใจในกำลังกาย กำลังทรัพย์และความสามารถของตน และ
  • ยถารูปสันโดษ หมายถึง พอใจในรูปลักษณ์และฐานะที่เราพึงมี

“ความสันโดด พอใจ ในสิ่งของ
เช่นเงินทอง ของตน แม้ล้นหลาย
เมื่อมีน้อย จ่ายน้อย ค่อยสบาย
ความจนหาย เลยลับ กลับมั่งมี”


มงคล 25 มีความกตัญญู

“กตัญญู รู้บุญ คุณพ่อแม่
คนเฒ่าแก่ และอาจารย์ ท่านทรงศีล
จอมมุนินทร์ ปิ่นเกล้า เจ้าธานี
หาวิธี แทนคุณ สมดุลกัน”

มงคล 26 ฟังธรรมตามกาล

“การฟังธรรม ตามกาล ผ่านมาถึง
ควรคำนึง นิ่งนั่ง ฟังขยัน
ย่อมจะเกิด ปัญญา สารพัน
ตั้งใจมั่น ฟังดี นี่สมควร”

มงคล 27 มีความอดทน

“ความอดทน ตรากตรำ ยามลำบาก
เจ็บไข้มาก ทนได้ ไม่โหยหวน
ถูกขาด่า ให้ฟัง นั่งหน้านวล
ยิ้มเสสรวล ด้วยขันติ งามวิไล”

ลักษณะของความอดทน ได้แก่

  • อดทนต่อความลำบาก สภาพแวดล้อมและธรรมชาติ
  • อดทนต่อทุกขเวทนา อันเกิดจากสังขาร การเจ็บป่วย
  • อดทนต่อความเจ็บใจ ความผิดหวัง คำพูดที่ทำให้เจ็บปวด
  • อดทนต่อกิเลส ความโลภ วัตถุนิยม

มงคล 28 เป็นคนว่าง่าย

การเป็นคนว่าง่ายนั้น หมายถึงเป็นผู้ที่ไม่ถือตัว ไม่สำคัญตัว ไม่ถือดี ละอุปทาน ไม่ยึดถือในอำนาจกิเลส มีสัมมาทิฎฐิ คือเห็นชอบด้วยหลักอริยสัจ 4

“ควรเป็นคน สอนง่าย ไม่ตายด้าน
ก่อรำคาญ ค่ำเช้า ไม่เข้าไหน
ไม่ซัดโทษ ของตน ให้คนใด
เมื่อมีใคร สอนพร่ำ ให้นำมา”

มงคล 29 เห็นสมณะ

สมณะแปลว่า ผู้สงบ ด้วยคุณสมบัติดังนี้

  • สงบกาย สำรวมกริยา มารยาท ยึดหลักศีลธรรม
  • สงบวาจา พูดจาสุภาพ อยู่ในกรอบความพอดี ประเพณี
  • สงบใจ ปราศจากกิเลส ไม่พยาบาท

“การพบเห็น สมณะ ผู้สงบ
แล้วนอบนบ ถามไถ่ ไตรสิขา
หมั่นฝึกหัด ทุกวัน ด้วยปัญญา
ย่อมชักพา จิตตรง มงคลมี”

มงคล 30 สนทนาธรรมตามกาล

“ยามหดหู่ ฟุ้งซ่าน กาลสงสัย
เป็นสมัย ไต่ถาม ตามเหตุผล
เพื่อบรรเทา คลี่คลาย หายกังวล
ควรจะสนทนาธรรม ตามที่ควร”

มงคล 31 บำเพ็นตบะ

ตบะ หมายถึง ห่างหายซึ่งกิเลส ตัณหา ไม่ยึดติด ไม่ลุ่มหลง

“พึงบำเพ็ญ ตบะ ละกิเลส
อันเป็นเหตุ หักห้าม กามฉันท์
มุ่งทำลาย ถ่ายบาป สาบสูญพันธุ์
เข้าสู่ขั้น สุโข โลกุตตรฌาน”

มงคล 32 ประพฤติพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ หมายถึง การถือครองอยู่ในสติ ห่างพ้นเมถุน อยู่ในธรรม ให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่นตามความเหมาะสม รักษาศีล รู้แจ้งเห็นแจ้ง

“เร่งประพฤติ พรหมจรรย์ อันประเสริฐ
เพื่อให้เกิด สุขล้วน โดยถ้วนถี่
ตั้งแต่ทาน ถึงสิกขา บรรดามี
สมบูรณ์ดี พรหมจรรย์ ย่อมมั่นคง”

มงคล 33 เห็นอริยสัจ

อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ อยู่ในหลักอริยสัจ 4 ดังนี้

  1. ทุกข์ มนุษย์ทุกชีวิตย่อมต้องเผชิญกับความไม่สบายกาย ใจ โศกเศร้า เสียใจ เจ็บป่วย ท้อแท้ ตรอมใจ หม่นหมอง
  2. สมุทัย เหตุที่ทำให้เป็นทุกข์ อยู่ที่กายและใจของตัวเราเอง อันได้แก่ตัณหาทั้ง 3 อย่าง (กามตัณหา, ภวตัณหาและวิภวตัณหา)
  3. นิโรธ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
  4. มรรค ข้อปฏิบัติในการเดินทางสายกลาง 8 ประการ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (ทำการชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)

“การรู้เห็น ความจริง สิ่งเที่ยงแท้
ไม่ผันแปร สี่ชนิด ไม่ผิดหลง
ตัดตัณหา มูลราก พรากทุกข์ลง
เป็นการส่ง ข้ามฟาก จากสาคร”

มงคล 34 ทำพระนิพพานให้แจ้ง

นิพพานคือจิตที่สามารถดับกิเลศได้ หลุดพ้นจากความทุกข์

“ทำให้แจ้ง นิพพาน ผลาญสังโยชน์
ตรวจตราโทษ ธาตุ ขันธ์ หมั่นฝึกถอน
เอาอรหัต มรรคญาณ เผาราญรอน
ดับทุกข์ร้อน นิพพาน สำราญนัก”

มงคล 35 จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

โลกธรรมมี 4 ประการ ได้แก่

  1. การได้ลาภ
  2. การได้ยศ
  3. การได้รับการสรรเสริญ
  4. การได้รับความสุข

“ท่านผู้ใด ใจดำรง อยู่คงที่
ในเมื่อมี โลกธรรม ครอบงำหนัก
เช่น ลาภ ยศ สุข เศร้า เข้าง้างชัก
มิอาจยัก โยกท่าน ให้หวั่นใจ”

มงคล 36 จิตไม่โศก

“คราวพลัดพราก จากญาติ ขาดชีวิต
ถูกพิชิต จองจำ ทำโทษใหญ่
มีสติ คุมจิต เป็นนิตย์ไป
ไม่เสียใจ โศกเศร้า เฝ้าประคอง”

มงคล 37 จิตปราศจากธุลี

กิเลส ได้แก่ ความโลภ ความโกรธและความหลง
“หมดราคะ โทสะ โมหะแล้ว
จิตผ่องแผ้ว เลิศดี ไม่มีสอง
ย่อมมีค่า สูงจริง ยิ่งเงินทอง
เหมือนสูริย์ส่อง ท้องฟ้า สง่างาม”

มงคล 38 จิตเกษม

จิตเกษมคือการทำให้จิตใจเป็นสุข ละซึ่งกิเลสอันถูกผูกยึดไว้ 4 ประการดังนี้

  • กามโยคะ ละความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส
  • ภวโยคะ ละในภพ รู้แจ้งว่าทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยงแท้
  • ทิฏฐิโยคะ ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
  • อวิชชาโยคะ ไม่ใส่ใจแก่อวิชชาต่างๆ

“จิตเกษม เปรมปรีดิ์ ดีตลอด
เป็นจิตปลอด จากโอฆ ในโลกสาม
เครื่องผูกมัด สลัดหมด แสนงดงาม
เข้าถึงความ สุขสันต์ นิรันดร”

ที่มา www.dhammathai.org

Message us