วัตถุมงคลศาสตร์โบราณ ความเชื่อ ความผูกพัน

วัตถุมงคลศาสตร์โบราณ ความเชื่อ ความผูกพัน

วัตถุมงคล หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อเชื่อมโยงให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวกบังเกิดความดี มีกุศล คุณธรรม เกิดความเจริญและสิริมงคลแก่ชีวิต มีมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสร้างความเชื่อ ก่อเกิดอิทธิพลต่อสังคมไทย เช่น พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง เพื่อเกิดความขลังของวัตถุมงคลจึงเกิดวิถีปฏิบัติทั้งทางธรรมและพิธีกรรมแบบไสยศาสตร์เพื่อเชื่อมถึงอานุภาพของพระพุทธมนต์ในพระไตรปิฎก และความเชื่อต่อปฏิปทาของเกจิอาจารย์ พิธีกรรมทางพิธีพุทธาภิเษก นอกจากการทำพิธีแล้วเพื่อความเป็นสิริมงคล โชคลาภผู้ครอบครองจำต้องรักษาอย่างดี รวมถึงมีจิตใจอันเป็นกุศล

การบูชาวัตถุมงคลเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมดีในทางพระพุทธศาสนาคือการละความชั่ว โดยการยึดมั่นในวัตถุมงคล รักษาศีล สมาทานศีล 5 หรือ ศีล 8 พระอาจารย์ผู้สร้างเองก็จำต้องสำรวมในศีลบริสุทธ์จึงจะสามารถดำเนินการสร้างวัตถุมงคลอย่างสมบูรณ์ถูกต้องตามแบบแผนการสร้างวัตถุมงคลโบราณาจารย์ นับได้ว่าวัตถุมงคลเป็นกุศลอุบายให้ยึดถือปฏิบัติ ปฏิบัติธรรม รักษาสีล กราบไหว้ สวดมนต์อาราธนาธรรม สมาธิธรรมอันก่อให้เกิดจิตใจผ่องใสยกระดับจิตใจให้ละเว้นซึ่งกิเลสต่างๆ ได้”

พระธรรมธรชัยสิททธิ์ ชยธมฺโม (ศรชัย), 2560

ความเชื่อเกี่ยวกับวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังในสังคมไทย

วัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง เกิดจากการนับถือธรรมชาติของชาวบาบิโลน ที่ได้ยึดถือธรรมชาติอย่างพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว น้ำ ไฟและลม อันเป็นสรณะที่พบได้จากซากวิหารในบาบิโลนที่ถูกสร้างขึ้นก่อนคริสตศักราช 4,700 ปี

ก่อนพุทธกาลราว 2,000 ปีเศษ ศาสนาพราหมณ์ได้เกิดการนับถือพระผู้เป็นเจ้า พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม เพื่อสวดอ้อนวอน อัญเชิญขออำนาจเทพทั้งสามในการบัลดาลผลให้ประสบความสำเร็จจึงได้เกิดเป็นภาพจำหลักเทพทั้งสามขึ้น

พระพุทธศาสนาเองก็ปรากฎพระบรมศาสดาหรือเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ค้นพบอมตะธรรมวิเศษอันมีผู้เลื่อมใสสักการะและยึดเป็นสรณะ บังเกิดพระสาวกตามเสด็จและประพฤติปฏิบัติตาม ในทางพุทธศาสนานั้นผู้ที่สำเร็จฌานสมาบัตินับเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ อันทรงไว้ด้วยพระคุณ 3 ประการ คือ พระกรุณาคุณ 1 พระปัญญาคุณ 1 และพระบริสทุทธิคุณ 1 ย่อมแสดงอิทธิฤทธิ์ได้อย่างเป็นอเนกประการ หรือที่เรียกว่า “อิทธิปาฏิหาริย์”

เรื่องราวของวัตถุมงคลในประเทศไทย

ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 ประมาณ 1905 พระสงฆ์ได้แบ่งเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายนึงจะร่ำเรียนพระไตรปิฎกและสั่งสอนพระธรรม (คามวาสี) และอีกฝ่ายจะถือวิปัสสนาธุระหรือบำเพ็ญภาวนามัก จากนั้นได้เกิดพิธีการเคารพสักการะครูบาอาจารย์ เมื่อต้องออกศึก หรือในยามคับขันเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ขอพรสวัสดีมีชัยจากท่านที่นับถือ โดยสมัยนั้นพระเถรานุเถระได้มีการมอบของที่ระลึกเพื่อเป็นที่ระลึก กำลังใจยึดถือให้เกิดกำลังใจ เกิดความมั่นใจ ต่อมาวัตถุมงคลได้พัฒนาการขึ้นตามสภาพความเจริญเกิดเป็น เสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด รูปประติมากรรม ฯลฯ ฉันนะ วารมัน, ตำรับพระเครื่องรางของขลัง

พระนคร : สำนักพิมพ์เขษมบรรณกิจ, (ม.ป.ป.), หน้า 2

ในสังคมไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ พิธีกรรม การสวดอ้อนวอนด้วยคาถาจากคัมภีร์เก่าแก่ของพราหมณ์ 4 คัมภีร์ ได้แก่

  • ฤคเวท เป็นคำฉันท์ ร้อยกรองคำอ้อนวอนและบทสวดสรรเสริฐพระเจ้า
  • สามเวท เป็นคำฉันท์ร้อยกรองสวดในพิธีบูชาถวายน้ำโสมแด่พระอินทร์และขับกล่อมเทพเจ้า
  • ยชุรเวท เป็นคำร้อยแก้วอันกล่าวถึงพิธีพลีกรรมและบวงสรวงเทพเจ้า
  • อาถรรพเวท เป็นคาถาอาคม มนต์ขลังสำหรับเป่าเสกแก้เสนียดจัญไร ป้องกันคุณไสย์มนต์ดำ แคล้วคลาดปลอดภัยจากศัตรู (พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ), ประวัติพุทธศาสนาในอินเดีย

คัมภีร์ทั้ง 4 เล่มนั้นจะเห็นว่าเนื้อหานั้นมีอิทธิพลต่อความเชื่อด้านวัตถุมงคลอันนำสู่ความสุข และเป็นมงคลชีวิต นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาอันเป็นอาถรรพเวทอันแสดงถึงการสาบแช่ง ประทุษร้ายอีกด้วย

วัตถุมงคลแม้จะไม่มีอยู่ในคำสอนของพุทธศาสนาโดยตรงแต่ได้ถูกยึดถือในชีวิตประจำวันของพุทธศาสนิกชนที่มีความเชื่อส่วนบุคคลอันสะท้อนให้ผู้มีความเชื่อเหล่านั้นยึดถือปฏิบัติต่อการทำคุณความดีนั่นเอง

วัตถุมงคลคืออะไร

สุธน ศรีหิรัญกล่าวว่า “วัตถุมงคลเป็นศัพท์บัญญัติขึ้นหลังปี พ.ศ.2500 ดังที่เคยสืบค้นจากหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ในระยะเวลาดังกล่าว แต่หากย้อนหลังลงไปนั้นจะพบคำว่า เครื่องรางของขลัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพิมพ์”

ราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า “เครื่องราง หมายถึงของนับถือที่ป้องกันอันตรายเป็นของที่มนุษย์สร้างขึ้นและเชื่อว่ามีฤทธิ์ปาฎิหารย์ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ต้องการได้ เช่น เสน่ห์ ความรัก โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นต้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์. 2545), หน้า193.

เครื่องรางของขลัง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Amulet อันมีความหมายเป็นภาษาไทยว่าเครื่องประดับที่สวมใส่เป็นเครื่องรางป้องกันความชั่วร้าย (Oxford Advanced Learner’s Dictionary) ในหนังสือ Longman Dictionary of Contemporary English ก็ได้ให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า เครื่องสวมใส่ด้วยความศรัทธาว่าจะปกป้องตนจากอันตรายความเลวร้ายและอับโชค

พระราชวรมุนีให้ความหมายของวัตถุมงคลว่า วัตถุมงคลได้แก่ เครื่องรางของขลังหรือยันต์ สิ่งที่คนนับถือโดยปราศจาคเหตุผล, เหรียญนำโชค ดังนั้นวัตถุในความหมายของพระราชวรมุนีจึงมีความหมายครอบคลุมทั้งพระเครื่องและเครื่องรางของขลังทุกชนิด

ประเภทของวัตถุมงคล

วัตถุมงคลได้ถูกแบ่งประเภทอย่างหลากหลาย อันได้แก่

แบ่งตามการสร้าง

1. วัตถุมงคลที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น เหล็กไหล เขากวางคุด เขี้ยวหมูตัน เขียวเสือกลวง เถาวัลย์ เป็นต้น
2. วัตถุมงคลที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่
2.1 ประเภทเนื้อดิน สร้างจากดินเป็นหลัก เช่น พระพิมพ์หรือพระเครื่อง
2.2 ประเภทเนื้อผง สร้างจากผงปูนเปลือกหอยผสมผงอิทธิเจ เกสรดอกไม้บูชาพระหรือผงใบลาน เป็นต้น เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง เป็นต้น
2.3. ประเภทเนื้อชิน สร้างจากโลหะธาตุต่างๆ เช่น ชินเงิน ชินตะกั่ว นวโลหะ ทองคำสำริด เงิน นาค ทองแดง เป็นต้น เช่น พระท่ากระดาน พระลีลาวังหิน เป็นต้น
2.4 ประเภทเขี้ยวงากระดูก ไม้ เช่น หมากทุย ลูกประคำ เป็นต้น

ประเภทวัตถุมงคลของขลัง

ตามประเภทการใช้ วัสดุ รูปแบบลักษณะและระดับชั้นดังนี้

  1. เครื่องคาด ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้คาดศรีษะ คาดเอว คาดแขน ฯลฯ
  2. เครื่องสวม ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้สวมคอ สวมศีรษะ สวมแขน สวมนิ้ว ฯลฯ
  3. เครื่องฝัง ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้ฝังลงไปในเนื้อหนัง เช่น เข็มทอง ตะกรุดทอง ตะกรุดสาลิกา และการฝังเหล็กไหล
  4. เครื่องอม ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้อมไว้ในปาก เช่น ลูกอม ตะกรุดลูกอม

ตามรูปลักษณะ

  1. ผู้ชาย เช่น รักยม กุมารทอง ฤาษี พ่อเฒ่า ชูชก ปลัดขิก ฯลฯ
  2. ผู้หญิง เช่น นางกวัก แม่ศรีเรือน แม่ซื้อ ฯลฯ
  3. พระโพธิสัตว์ เช่น เสือ ช้าง วัว เต่า แมงมุม

ตามระดับชั้น

  1. เครื่องรางชั้นสูง ได้แก่ เครื่องรางที่ใช้ส่วนสูงของร่างกายนับแต่ศีรษะลงมาถึงบั้นเอวสำเร็จด้วยพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
  2. เครื่องรางชั้นต่ำ ได้แก่ เครื่องรางที่เป็นของต่ำ เช่น ปลัดขิก อีเป๋ ไอ้งั่ง อิ้น ไม่ได้สำเร็จด้วยของสูง
  3. เครื่องรางที่ใช้แขวน เช่น ธงรูปนก กระบอกใส่ยันต์ เป็นต้น

วัตถุมงคลมีทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์ได้สร้างขึ้นตามความเชื่อเพื่อนำสู่ความสุข ความเจริญและเป็นสิริมงคล ก่อเกิดโชคลาภ ยึดถือเพื่อป้องกันภัย แม้ว่าจะมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแต่ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีความเชื่อเหล่านี้ ได้ยึดถือเป็นวัตถุยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิดคุณธรรมและการปฏิบัติคุณความดี สวดนำพาสู่จิตใจอันสงบเพื่อเกิดสติปัญญาในการก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

อ้างอิง : พระธรรมธรชัยสิททธิ์ ชยธมฺโม (ศรชัย), 2560
วิราวรรณ สมพงษ์เจริญ “คติความเชื่อของคนไทยสมัยสุโขทัย”, 2550
พระมหามนตรี วลฺลโภ (ป้อมสุข), 2542


บทความที่เกี่ยวข้อง

Message us